หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

กฎหมาย


กฎหมาย



             กฎหมาย เป็นกฎเกณฑ์ ข้อบังคับที่ใช้ควบคุมความประพฤติของมนุษย์ในสังคม   กฎหมาย มีลักษณะเป็นคำสั่ง ข้อห้าม ที่มาจากผู้มีอำนาจสูงสุดในสังคมใช้บังคับได้ทั่วไป ใครฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษหรือสภาพบังคับอย่างใดอย่างหนึ่ง
ความจำเป็นในการมีกฎหมาย
                กฎหมายเป็นเครื่องควบคุมประพฤติการณ์ในสังคม พัฒนาขึ้นมาจากศีลธรรม ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ศาสนา และกฎเกณฑ์ข้อบังคับ ตามลำดับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อธำรงความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของสมาชิกในสังคม กับทั้งเพื่อให้การอยู่ร่วมกันในสังคมนั้นเป็นไปโดยราบรื่น สนองความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ดังภาษิตละตินที่ว่า "ที่ใดมีมนุษย์ ที่นั้นมีสังคม ที่ใดมีสังคม ที่นั้นมีกฎหมาย ด้วยเหตุนั้น ที่ใดมีมนุษย์ ที่นั้นจึงมีกฎหมาย
            ระบบกฎหมายในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 4 ระบบ ได้แก่ ระบบกฎหมาย   ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร ระบบกฎหมายสังคมนิยม และระบบกฎหมายศาสนา กฎหมายแต่ละระบบย่อมมีที่มาแต่งต่างกัน
             การแบ่งประเภทของกฎหมาย อาจแบ่งได้หลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับว่าจะยึดอะไรเป็นหลักเกณฑ์ในการแบ่ง   มนุษย์จำเป็นต้องมีกฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกัน เพื่อให้สังคม  เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสงบสุข
กฎหมายคืออะไร
            มนุษย์เป็นสัตว์สังคม โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่คนเดียวได้ จึงต้องรวมกันอยู่เป็นหมู่เป็นพวก เป็นกลุ่มเป็นก้อน เริ่มจากสังคมเล็ก ๆ ระดับครอบครัว ต่อมาเมื่อมนุษย์มีจำนวนมากขึ้นก็รวมกันเป็นเผ่าเป็นกลุ่มชนและสุดท้ายเผ่าที่มีสายพันธุ์เดียวกันก็รวมเข้าด้วยกันกลายเป็นกลุ่มชนใหญ่ขึ้น จนกลายเป็นรัฐ เป็นประเทศ   การที่มนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก จำเป็นที่ต้องมีการติดต่อกัน  เพื่อแลกเปลี่ยนปัจจัยในการดำรงชีวิต บางครั้งมนุษย์ก็มีความต้องการที่จะทำอะไร ๆ ตามใจตนเองบ้าง ซึ่งการกระทำนั้นอาจเป็นเหตุทำให้ผู้อื่นไม่พอใจ จนเกิดความขัดแย้งวุ่นวายขึ้นมาได้ มนุษย์จึงต้องสร้างกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นเพื่อใช้ควบคุมความประพฤติของสมาชิกในสังคมให้เป็นไปในทำนองเดียวกัน เพื่อให้สังคมเป็นระเบียบเรียบร้อยสงบสุข กฎเกณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ เรียกว่า บรรทัดฐานทางสังคม (Social Norms) ประกอบด้วย
                1. วิถีชาวบ้าน (Folkways) เป็นกฎเกณฑ์ความประพฤติที่อยู่ในรูปของประเพณีนิยม ที่สมาชิกในสังคมปฏิบัติสืบต่อกันมา ถ้าใครไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกติฉินนินทาว่าร้าย เช่น การแต่งกาย กิริยามารยาททางสังคมในโอกาสต่าง ๆ เป็นต้น
                2. จารีต (Mores) เป็นกฎเกณฑ์ความประพฤติที่ยึดหลักความดีความชั่ว กฎเกณฑ์ทางศาสนา เป็นเรื่องของความรู้สึกว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก หากใครละเมิดฝ่าฝืนจะได้รับการต่อต้านจากสมาชิกในสังคมอย่างจริงจัง อาจถูกกีดกันออกจากสังคม หรือไม่มีใครคบค้าสมาคมด้วย เช่น การลักเล็กขโมยน้อย การเนรคุณบิดามารดา หรือผู้มีพระคุณ เป็นต้น
                3. กฎหมาย (Laws) เป็นกฎเกณฑ์ความประพฤติที่มีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจน แน่นอน ว่ากระทำอย่างไร เป็นความผิดฐานใด จะได้รับอย่างไร เช่น ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษประหารชีวิต เป็นต้น
                กฎเกณฑ์ของความประพฤติทั้งสามประการดังกล่าว สองประการแรกไม่ได้มีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจน การลงโทษผู้ละเมิดฝ่าฝืนก็ไม่รุนแรง ประการที่สาม กฎหมายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ใช้ได้ผลมากที่สุด ในการควบคุมความประพฤติของมนุษย์ ดังนั้นสังคมมนุษย์ทุกสังคมจึงจำเป็นต้องมีกฎหมาย เป็นกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันดังคำกล่าวที่ว่า ที่ใดมีสังคมที่นั่นมีกฎหมาย
ความหมายของกฎหมาย
                กฎหมาย หมายถึง คำสิ่งหรือข้อบังคับของรัฐ ซึ่งบัญญัติขึ้นเพื่อใช้ควบคุมความประพฤติของบุคคลซึ่งอยู่ในรัฐหรือในประเทศของตน หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ประพฤติปฏิบัติตาม ก็จะมีความผิดและถูกลงโทษ หรือได้รับผลเสียหายนั้นด้วย

ระบบของกฎหมาย (Legal System)
                ระบบของกฎหมาย หรือตำราบางเล่มเรียกว่า สกุลของกฎหมาย (Legal Family) เป็นความพยายามของนักกฎหมาย ที่จะจับกลุ่มของกฎหมายที่มีใช้อยู่ในประเทศต่าง ๆ ในโลก ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งในปัจจุบันนี้ระบบกฎหมายอาจแบ่งออกได้เป็น 4 ระบบ คือ
                1. ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) นักกฎหมายบางท่านเรียกว่า ระบบประมวลกฎหมาย (Code Law) หรือสกุลโรมาโน เยอรมานิค ( Romano Germanic) กฎหมายระบบนี้กำเนิดขึ้นในทวีปยุโรป จากการศึกษาค้นคว้ากฎหมายโรมัน โดยเฉพาะอิตาลีกับเยอรมันซึ่งได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมโรมัน ถือว่าเป็นประเทศที่พัฒนากฎหมายระบบนี้ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง กฎหมายระบบนี้ให้ความสำคัญกับกฎหมายที่มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร การศึกษากฎหมายต้องเริ่มจากตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ คำพิพากษาของศาลไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นบรรทัดฐาน   แบบอย่างในการตีความกฎหมาย ปัจจุบันประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร ได้แก่ อิตาลี เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ สเปน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และไทย
                2. ระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (Common Law) ตำราบางเล่มเรียกว่า กฎหมายจารีตประเพณี กำเนิดขึ้นในประเทศอังกฤษ กฎหมายระบบนี้ให้ความสำคัญกับจารีตประเพณี โดยใช้เป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อตัดสินชี้ขาดแล้วก็กลายเป็นหลักการ เมื่อมีคดีความที่มีลักษณะคล้ายกันเกิดขึ้นก็ต้องใช้หลักของคดีแรกเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินชี้ขาด ปัจจุบันประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และประเทศในเครือจักรภพ
                3. ระบบกฎหมายประเทศสังคมนิยม (Socialist Law) เกิดขึ้นและใช้อยู่ในสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศบริวาร เกิดจากความต้องการของนักกฎหมายของประเทศสังคมนิยม ตามปรัชญาของลักทธิมาร์กซ์ ซึ่งความจริงก็คือกฎหมายลายลักษณ์อักษรนั่นเอง แต่ก็มีส่วนที่แตกต่างกันก็คือ กฎหมายระบบนี้ต้องการสร้างความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้นในสังคม ให้ความสำคัญเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน โดยรัฐมีอำนาจเข้าไปจัดการถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของประชาชนได้ และรัฐเป็นผู้จัดสวัสดิการให้ ประชาชนไม่มีอำนาจต่อรองใด ๆ ทั้งสิ้น
                4. ระบบกฎหมายศาสนา (Religon Law) เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่ใช้หลักทางศาสนาเป็นแม่บทในการปกครอง เช่น กฎหมายศาสนาอิสลามซึ่งใช้อยู่ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง กฎหมายระบบนี้ให้ความสำคัญกับกฎเกณฑ์ ข้อบัญญัติศาสนา การพิจารณาตัดสินคดีความก็จะใช้กฎแห่งศาสนาเป็นหลัก


เส้นทางกฎหมายในประเทศไทย






วันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2556

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่1-18


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่1-18




รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 1 : พระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 
                  เกิดจากคณะราษฎรซึ่งทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ได้จัดร่างฯขึ้น มีจำนวน 39 มาตรา โดยหลวงประดิษฐมนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย 

ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 หรือหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 3 วัน 

ต่อมาได้ "ยกเลิก" รัฐธรรญนูญฉบับนี้ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เนื่องจากได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร รวมระยะเวลาที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ทั้งสิ้น 5 เดือน 13 วัน 
มีนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ 1 ชุด คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (สมัยที่ 1: 28 มิถุนายน 2475-10 ธันวาคม 2475) 

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 2 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (ไทย) พุทธศักราช 2475 
                เกิดจากสภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมการยกร่างฯขึ้น เพื่อใช้เป็นรัฐธรรรมนูญฉบับถาวร มีจำนวน 68 มาตรา ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งต่อมาถือเป็น "วันรัฐธรรมนูญ" รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถือเป็นฉบับถาวรที่มีระยะเวลาบังคับใช้นานที่สุด โดยได้ยกเลิกไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 รวมระยะเวลาประกาศใช้ทั้งสิ้น 13 ปี 4 เดือน 29 วัน ส่วนสาเหตุยกเลิกนั้น เนื่องมาจากเห็นว่า ใช้มานานแล้ว เหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนไปมาก ควรมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 นี้ มีรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศถึง 14 ชุด 


รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 3 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 
                 มีที่มาจาก ส.ส.ประเภทที่ 2 ที่ร่วมกันเสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาผู้แทนราษฎร และสภาพิจารณาแล้วอนุมัติ มีจำนวนมาตรา 68 มาตรา โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ก่อนจะสิ้นสุด เนื่องจากมีการรัฐประหาร ภายใต้การนำของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำการยึดอำนาจ และประกาศยกเลิกเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 รวมระยะเวลาประกาศใช้ 1 ปี 5 เดือน 30 วัน 

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 4 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 
                 หลังจากที่ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำการรัฐประหาร ได้ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวขึ้นมาใช้ มีจำนวน 98 มาตรา ประกาศใช้เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2490 และยกเลิกเมื่อ 23 มีนาคม 2492 เนื่องจากได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร 
รวมระยะเวลาที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 นี้ 1 ปี 4 เดือน 14 วัน มีรัฐบาล 3 ชุด คือ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ 2 สมัย และ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อีก 1 สมัย 

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 5 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 
                 มีที่มาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างฯและพิจารณาแล้วเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ภายหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก่อนหน้านี้ 
โดยรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 มีจำนวน 188 มาตรา ประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2492 แต่แล้ว 2 ปี 8 เดือน 6 วัน ต่อมา ก็ต้องสิ้นสุดลงไป เมื่อ พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ ทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลอีกครั้ง และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 สำหรับรัฐบาลที่ปกครองประเทศในช่วงรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเพียงชุดเดียวคือ รัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม (สมัยที่ 4) 

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 6 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 
                 หลังจากที่ พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ ทำการรัฐประหาร (อีกครั้ง) ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 ได้มีพระบรมราชโองการให้ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยให้นำรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 มาใช้บังคับไปพลาง พร้อมให้ สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันดำเนินการปรับปรุงฉบับใหม่ และเมื่อแล้วเสร็จ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ก็ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาผู้แทน และสภาให้ความเห็นชอบ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 นี้ในวันที่ 8 มีนาคม 2495 โดยมีจำนวน 123 มาตรา และในระหว่างที่มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการรัฐประหาร ในวันที่ 16 กันยายน 2500 แต่ทว่าก็ยังคงประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไป กระทั่งวันที่ 20 ตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการรัฐประหารอีกครั้ง คราวนี้ก็ถึงกาลสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 รวมระยะเวลาประกาศใช้ทั้งสิ้น 6 ปี 7 เดือน 12 วัน มีรัฐบาลบริหารประเทศรวม 6 ชุด 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 7 : ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 
                 รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเพียง 20 มาตรา คณะรัฐประหารได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการปกครองประเทศชั่วคราว โดยประกาศใช้เมื่อ 28 มกราคม 2502 และยกเลิกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 รวมเวลา 9 ปี 4 เดือน 23 วัน ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว เห็นได้ชัดว่า 

รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ ประกาศใช้นานมาก พูดได้ว่า เป็นช่วงการใช้อำนาจเผด็จการที่ยาวนานที่สุดของไทย แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันถึงความเป็นเผด็จการเต็มขั้น คือในมาตรา 17 ที่ให้อำนาจ นายกรัฐมนตรีเบ็ดเสร็จ และมาตรานี้เองที่ทำให้เกิดการประหารชีวิตผู้ต้องหาโดยไม่ผ่านการพิจารณาของศาล ทั้งยังมีการล้มเลิก การเลือกตั้ง ในทางการเมืองทุกระดับ มีแต่ การแต่งตั้ง แทน อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่นายกรัฐมนตรี คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อนที่นายกฯ ท่านนี้จะ "ตายคาตำแหน่ง" ในวันที่ 8 ธันวาคม 2506 และ จอมพลถนอม กิตติขจร ขึ้นสืบทอดอำนาจเผด็จการต่อภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก่อนที่จะยกเลิกเนื่องจากประกาศใช้ฉบับถาวร 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 8 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 
                 มีที่มาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างและพิจารณาให้ความเห็นชอบ นับเป็น รัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาในการร่างฯนานมาก นับจากวันโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 
มีจำนวน 183 มาตรา โดยประกาศใช้ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 และต้องยกเลิกเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ด้วยเหตุแห่งการรัฐประหาร ที่นำโดย จอมพล ถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจตัวเอง โดยอ้างว่า "มีบุคคลบางจำพวกอาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ยุยง บ่อนทำลาย ใช้อิทธิพลทั้งภายในและภายนอกสภานิติบัญญัติก่อกวนการบริหารราชการของรัฐบาล" รวมเวลาในการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ 3 ปี 4 เดือน 28 วัน ผู้บริหารประเทศ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีเพียงชุดเดียวคือ รัฐบาลของ จอมพลถนอม กิตติขจร (สมัยที่ 3 : 7 มีนาคม 2512-17 พฤศจิกายน 2514) 


รัฐธรรมนูญฉบับที่ 9 : ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 
                  คณะรัฐประหารได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นแนวทางในการบริหารประเทศไปพลางก่อน โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2515 และสิ้นสุดเมื่อ 7 ตุลาคม 2517 รวมเวลา 1 ปี 9 เดือน 22 วัน มีจำนวน 23 มาตรา สำหรับสาเหตุแห่งการสิ้นสุดนั้น เกิดจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ซึ่งเป็นฉบับถาวร 
ภายใต้การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 9 มีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่รู้จักกันดีคือ "เหตุการณ์ 14 ตุลา" ในปี 2516 ซึ่งเป็นเหตุให้จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องพ้นจากอำนาจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 
                 ในช่วงที่ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้ง "คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ" ขึ้น และได้จัดร่างรัฐธรรมนูญ โดยยึดหลักประชาธิปไตยอย่างมาก เมื่อร่างฯเสร็จ สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติให้ความเห็นชอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทาน ประกาศใช้เมื่อ 7 ตุลาคม 2517 มีจำนวนมาตรา 238 มาตรา 
แต่ทว่า 2 ปีต่อมา ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้ทำการรัฐประหารและประกาศล้มเลิกรัฐธรรมนูญ ซึ่งการรัฐประหารครั้งนี้ เป็นกระบวนการที่ติดตามมาจากการกวาดล้าง ปราบปรามขบวนการนักศึกษาในเช้าวันเดียวกัน ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์สำคัญทางหน้าประวัติศาสตร์ไทยอีกครั้งหนึ่ง ภายใต้การใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีรัฐบาล 4 ชุด จากนายกรัฐมนตรี "หม่อมพี่-หม่อมน้อง" คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช 3 สมัย และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช 1 สมัย 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 11 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 
                  ภายหลังการยึดอำนาจ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้มีคำสั่ง 6/2519 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2519 แต่งตั้ง "คณะเจ้าหน้าที่ทำงานกฎหมาย" ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ และต่อมาได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 11 มีจำนวน 29 มาตรา ในวันที่ 22 ตุลาคม 2519 
แต่หลังจากประกาศใช้ได้ 11 เดือน 28 วัน พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินก็ได้ทำการรัฐประหารซ้ำ และยกเลิกรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ไป นายกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศช่วงรัฐธรรมนูญชั่วคราว คือ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร (8 ตุลาคม 2519-20 ตุลาคม 2520) 

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 12 : ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 
                 เกิดจากการที่ คณะรัฐประหาร ซึ่งนำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ นำมาใช้หลังจากที่ได้ทำการรัฐประหารซ้ำ โดยได้วางหลักการไว้กว้างๆ เหมือนกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับก่อนๆ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจำนวน 32 มาตรา ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 และยกเลิก 22 ธันวาคม 2521 เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 (ฉบับถาวร) รวมเวลา 1 ปี 1 เดือน 13 วัน มีรัฐบาลของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (สมัยที่ 1) บริหารประเทศ 

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 13 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 
                  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จนแล้วเสร็จ จากนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาและให้ความเห็นชอบ และเมื่อได้มีมติเห็นชอบแล้ว ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ให้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521 มีจำนวน 206 มาตรา สำหรับสาเหตุแห่งการสิ้นสุดรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เกิดจาก คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งนำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ได้ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจจาก พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 รวมเวลา 12 ปี 2 เดือน 1 วัน 

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 14 : ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 
                  คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งนำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ได้อ้างเหตุผลในการยึดอำนาจว่า ประการแรก คณะรัฐบาลได้อาศัยอำนาจหน้าที่ทางการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้องอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ประการที่สอง ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจรังแกข้าราชการประจำ และประการที่สาม นักการเมืองที่บริหารประเทศมีการรวบอำนาจนำไปสู่การปกครองแบบเผด็จการรัฐสภา 
คณะ รสช.จึงได้ทำการรัฐประหาร ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 13 และนำรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาใช้ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534 มีจำนวน 33 มาตรา แล้วยกเลิกไปวันที่ 9 ธันวาคม 2534 หลังจากประกาศใช้ฉบับถาวร รวมเวลาที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 คือ 8 เดือน 8 วัน สำหรับนายกรัฐมนตรีในช่วงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ นายอานันท์ ปันยารชุน (สมัยที่ 1 : 2 มีนาคม 2534-7 เมษายน 2535) 

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 15 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 
                  สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นยกร่างฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา และให้ความเห็นชอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 มีจำนวน 223 มาตรา ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม 2535 แต่ คณะ รสช. ก็ได้พยายามสืบทอดอำนาจ โดยผ่านพรรค "สามัคคีธรรม" ซึ่งเป็นพรรรค "นอมินี" ของ รสช. หนุนให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างหนักจากประชาชน จนเกิดเหตุล้อมปราบในเดือนพฤษภาคม 2535 หรือที่รู้จักกันดีในชื่อเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" พล.อ.สุจินดา คราประยูร ต้องพ้นจากตำแหน่ง 
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงประกาศใช้มาเรื่อยๆ พร้อมกันนั้นก็มีความพยายามในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คำนึงถึงประชาชนมีส่วนร่วมขึ้นมา และเมื่อแล้วเสร็จ จึงได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 ในวันที่ 11 ตุลาคม 2540 รวมเวลาประกาศใช้ทั้งสิ้น 5 ปี 10 เดือน 2 วัน มีรัฐบาลบริหารประเทศ 5 ชุด 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 
                 สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน...คำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ 
สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งมาจากบุคคลหลากหลายสาขาอาชีพ ได้จัดทำขึ้นเสร็จ แล้วรัฐสภาสมัยรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 15 พิจารณาให้ความเห็นชอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วประธานรัฐสภาได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 มีจำนวน 336 มาตรา รัฐธรรมนูญที่ประชาชนร่วมกันร่างฉบับนี้ ถูกยกเลิก เนื่องจากการรัฐประหารภายใต้การนำของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมเวลา 8 ปี 11 เดือน 8 วัน 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 17 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 
                  คณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นำมาใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศชั่วคราว ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 โดยมีจำนวน 39 มาตรา 
โดยได้ยกเลิกไปเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ทันทีที่รัฐธรรมมนูญฉบับที่ 18 มีผลบังคับใช้ 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 
                  เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 มีจำนวนมาตรา 309 มาตรา ช่วงที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 17 นั้น ได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้มี "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" (ส.ส.ร.) กำหนดให้ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จใน 180 วัน นับแต่วันเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก 
จากนั้นได้ทำการเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ และจัดให้มีการออกเสียง "ประชามติ" การลงประชามติมีขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 โดยผลที่ออกมาคือ ประชาชนลงคะแนน รับร่างรัฐธรรมนูญ 57% ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 41% จึงทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน และประกาศใช้เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศต่อไป 





วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ปัญหาเขาพระวิหาร


แผนที่ฝรั่งเศสที่ศาลโลกกรุงเฮกใช้อ้างอิงในการตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา


คดีปราสาทพระวิหาร เป็นความขัดแย้งระหว่างราชอาณาจักรกัมพูชากับราชอาณาจักรไทย ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2501 จากปัญหาการอ้างสิทธิเหนือบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายแดนไทยด้านอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และชายแดนกัมพูชาด้านจังหวัดพระวิหาร เกิดจากการที่ทั้งไทยและกัมพูชา ถือแผนที่ปักปันเขตแดนตามแนวสันปันน้ำของเทือกเขาพนมดงรักคนละฉบับ ทำให้เกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของทั้งสองฝ่ายในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของตัวปราสาท โดยทั้งฝ่ายกัมพูชาและฝ่ายไทยได้ยินยอมให้มีการพิจารณาปัญหาดังกล่าวขึ้นที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. 2502
คดีนี้ศาลโลกได้ตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ท่ามกลางความไม่พอใจของฝ่ายไทย ซึ่งเห็นว่าศาลโลกตัดสินคดีนี้อย่างไม่ยุติธรรม อย่างไรก็ตาม การตัดสินคดีครั้งนี้ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องอาณาเขตทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชาในบริเวณดังกล่าวให้หมดไป และยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังต่อมาจนถึงปัจจุบัน


หลังจากกัมพูชาเป็นเอกราช ในวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2493 ประเทศไทยได้เป็นประเทศแรกที่ได้ให้การรับรอง จนมีการตั้งสำนักผู้แทนทางการทูตขึ้นที่กรุงพนมเปญ และสัมพันธภาพก็เจริญมาด้วยดีโดยตลอด จนกระทั่ง พ.ศ. 2501 เอกอัครราชทูตกัมพูชา ประจำกรุงลอนดอน ซัมซารี ได้เขียนบทความเกี่ยวกับสิทธิเหนือปราสาทเขาพระวิหาร ลงในนิตยสาร "กัมพูชาวันนี้ (le Combodge d'aujourd'hui) " มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุบว่า "ไทยอ้างสิทธิเหนือวิหารนี้ โดยการใช้กำลังทหารเข้ายึดเอาพระวิหาร-อันเป็นการกระทำแบบฮิตเลอร์" จากนั้นมาวิทยุและหนังสือพิมพ์ของกัมพูชาก็ได้พูดถึงเรื่องสิทธิเหนือปราสาทเขาพระวิหารนี้อยู่เรื่อย ๆ จนเกิดกระแส "ทวงเขาพระวิหารคืนจากไทย" แต่ยังไม่รุนแรงนัก นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ปล้นสะดมทางชายแดนไทย-กัมพูชาเสมอ ๆ ทำให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการผสมเพื่อดำเนินการตรวจสอบเส้นเขตแดน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลกัมพูชา ทำให้ความสัมพันธ์เริ่มทรุดลงอย่างรวดเร็ว


วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 ประเทศจีนได้ประกาศรับรองกัมพูชา และพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหนุได้เสด็จไปเยือนปักกิ่ง ซึ่งในสมัยนั้นอยู่ในช่วงระวังการแทรกซึมจากคอมมิวนิสต์รัฐบาลไทยจึงประกาศภาวะฉุกเฉินในเขตท้องที่จังหวัดตราดจันทบุรีปราจีนบุรีสุรินทร์บุรีรัมย์ศรีสะเกษ และอำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เหตุการณ์จึงตึงเครียดหนักขึ้น
วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2501 มีการเจรจาเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาขึ้นที่กรุงเทพ แต่ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ วันที่ 7 กันยายน ปีเดียวกัน ประเทศไทยได้เดินขบวนประท้วงประเทศกัมพูชา และอ้างถึงกรรมสิทธิ์ของไทยเหนือเขาพระวิหาร นอกจากนี้ยังมีการโจมตีระหว่างสื่อไทยและกัมพูชากันอยู่เนื่อง ๆ จนกระทั่งวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501 รัฐบาลกัมพูชาได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย และความสัมพันธ์ก็เลวร้ายลงจนไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลโลก


คณะผู้พิพากษา ในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ)

ผู้พิพากษา
ผู้พิพากษามีทั้งหมด 15 ท่าน คะแนนเสียง ต่อ ตัดสินว่าปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา และ คะแนนเสียง ต่อ ตัดสินว่า ไทยต้องคืนวัตถุสิ่งประติมากรรม แผ่นศิลา ส่วนปรักหักพังของอนุสาวรีย์รูปหินทราย เครื่องปั้นดินเผาโบราณและปราสาทหรือบริเวณเขาพระวิหารให้แก่กัมพูชา
·         โบดาน วินิอาร์สกิ (Bohdan Winiarski) : ชาวโปแลนด์ เป็นประธา — พิพากษาให้เป็นของกัมพูชา
·         ริคาร์โด อาลฟาโร (Ricardo Alfaro) : ชาวปานามา เป็นรองประธาน — พิพากษาให้เป็นของกัมพูชา
·         ลูซิโอ มอเรโน กินตานา (Lucio Moreno Quintana) : ชาวอาร์เจนตินา — พิพากษาให้เป็นของไทย
·         เวลลิงตัน คู (Wellington Koo) : ชาวจีนไต้หวัน — พิพากษาให้เป็นของไทย
·         เซอร์ เพอร์ซี สเปนเดอร์ (Percy Spender) : ชาวออสเตรเลีย — พิพากษาให้เป็นของไทย
·         จูลส์ บาเดอวังต์ (Jules Basdevant) : ชาวฝรั่งเศส — พิพากษาให้เป็นของกัมพูชา
·         อับดุล บาดาวี (Abdul Badawi) : ชาวอียิปต์ — พิพากษาให้เป็นของกัมพูชา
·         เซอร์ เจรัลด์ ฟิตซ์มอริส (Sir Gerald Fitzmaurice) : ชาวอังกฤษ — พิพากษาให้เป็นของกัมพูชา
·         วลาดิเมียร์ คอเรดสกี (Vladimir Koretsky) : ชาวรัสเซีย — พิพากษาให้เป็นของกัมพูชา
·         โคะทะโระ ทะนะกะ (Kotaro Tanaka) : ชาวญี่ปุ่น — พิพากษาให้เป็นของกัมพูชา
·         โจเซ่ บุสตามันเต อี ริเบโร (José Bustamante y Rivero) : ชาวเปรู — พิพากษาให้เป็นของกัมพูชา
·         เกตาโน มอเรลลี (Gaetano Morelli) : ชาวอิตาลี — พิพากษาให้เป็นของกัมพูชา
·         สปีโรปูลอส (Jean Spiropoulos) : ชาวกรีก — งดออกเสียง (ป่วย)


ผู้แทนฝ่ายไทย

คณะผู้แทนของประเทศไทย
หม่อมเจ้าวงษ์มหิป ชยางกูรเอกอัครราชทูตประจำประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นตัวแทน
ทนาย 
·         หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชเนติบัณฑิต
·         อังรี โรแลง (Henry Rolin) : ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยบรัสเซลส์ และทนายความประจำศาลอุทธรณ์ กรุงบรัสเซลส์
·         เซอร์ แฟรงก์ ซอสคีส (Sir Frank Soskice) : อดีตแอททอร์นี เยเนราล ในคณะรัฐบาลอังกฤษ
·         เจมส์ เนวินส์ ไฮด์ (James Nevins Hyde) : เนติบัณฑิตแห่งรัฐนิวยอร์ก และทนายความประจำศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา
·         มาร์เซล สลูสนี (Marcel Slusny) : อาจารย์มหาวิทยาลัยบรัสเซลส์ และทนายความประจำศาลอุทธรณ์ กรุงบรัสเซลส์
·         เจ.จี. เลอ เคนส์ (J. G. Le Quesne) : เนติบัณฑิต
ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ 
·         พลโท บุศรินทร์ ภักดีกุล: เจ้ากรมแผนที่ กระทรวงกลาโหม
·         สุข เปรุนาวิน: รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
·         จินดา ณ สงขลา: รองเลขาธิการ ก.พ.
·         พันโท พูนพล อาสนจินดา: อาจารย์โรงเรียนแผนที่ กรมแผนที่ กระทรวงกลาโหม
ที่ปรึกษาทางกฎหมาย 
·         จาพิกรณ์ เศรษฐบุตร: หัวหน้ากองกฎหมาย กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงต่างประเทศ
·         เดวิด เอส ดาวนส์ (David S. Downs) : ทนายความประจำศาลสูง ประเทศอังกฤษ

คณะผู้แทนของประเทศกัมพูชา
·         ฯพณฯ ตรวง กัง (Truong Cang) : สมาชิกสภาองคมนตรี เป็นตัวแทน
ทนาย 
·         ฯพณฯ อุค ชุม (Ouk Chhoim) : อัครราชทูตที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศฝรั่งเศส
·         ดีน แอจิสัน (Dean Acheson) : เนติบัณฑิตประจำศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ สมัยประธาธิบดี ทรูแมน
·         โรเช่ ปินโต (Roger Pinto) : อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส
·         โปล เรอแตร์ (Paul Reuter) : อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส
ที่ปรึกษาทางกฎหมาย 
·         เบรซ์ เอม คลาเกตต์ (Brice M. Clagett) : เนติบัณฑิต ประจำศาลอุทธรณ์แห่งสหรัฐอเมริกา เขตโคลอมเบีย
ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ 
·         พันเอก งิน กาเรต (Ngin Karet) : อธิบดีกรมแผนที่ แห่งกองทัพกัมพูชา
เลขาธิการคณะผู้แทน 
·         ชาญ ยูรัน (Chan Youran)
รองเลขาธิการคณะผู้แทน 
·         เขม สงวน (Chem Snguon)
         วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 หลังจากศาลโลกตัดสินแล้ว 20 กว่าวัน รัฐบาลไทยโดย ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีหนังสือไปยัง นายอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อประท้วงคำพิพากษาของศาลโลกโดยอ้างว่าคำพิพากษานั้นขัดต่อกฎหมายและความยุติธรรม นอกจากนี้ ยังสงวนสิทธิที่ประเทศไทยจะเรียกร้องปราสาทพระวิหารกลับคืนในอนาคตด้วย




ศาลโลก พิพากษาไทยแพ้คดีพระวิหาร

             มติเอกฉันท์ “ศาลโลก” พิพากษาไทยแพ้คดีพระวิหาร รับมีอำนาจวินิจฉัยคำพิพากษาปี 2505 ชี้พื้นที่บริเวณโดยรอบปราสาทอยู่ในเขตอธิปไตยกัมพูชาเช่นเดียวกับตัวปราสาทฯ สั่งไทยถอนกำลังทหาร-ตำรวจ ออกจากพื้นที่พิพาท เตือน ประเด็นพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ให้ 2 ประเทศร่วมประชุมหารือจัดการพื้นที่ร่วมกันหลังขึ้นเป็นมรดกโลก ท่ามกลาง “ยูเนสโก” เข้ามาควบคุมดูแล ด้าน “ทูตวีรชัย” เผยกัมพูชา ไม่ได้รับพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ตามคำขอในสำนวน ได้เพียงพื้นที่แคบ ๆ รอบปราสาทและศาลไม่ได้ชี้ขาดเรื่องเส้นเขตแดน ด้านนายกฯฮุนเซน ได้ทีไล่บี้ไทยถอนกำลังทหาร ขณะที่นายกฯปู จัดทีมเจรจา ยืนยันปกป้องอธิปไตยเต็มที่
            เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 พ.ย. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ องค์คณะผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยองค์คณะผู้พิพากษาจำนวน 17 คน ได้อ่านคำพิพากษา กรณีกัมพูชายื่นขอให้ศาลโลกตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 โดยมีคณะของกัมพูชา และคณะฝ่ายไทยนำโดย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม นายวีรชัย พลาศรัย ในฐานะตัวแทนไทยดำเนินการทางกฎหมายปราสาทพระวิหาร พร้อมทีมงานเข้าร่วมรับฟัง
            นายปีเตอร์ ทอมกา ประธานศาลโลก กล่าวความเป็นมาของคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร ระบุว่า กัมพูชาได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2011 อ้างถึงมาตรา 60 และ 98 ของธรรมนูญศาล และ ร้องขอให้ศาลตีความปราสาทพระวิหาร วันเดียวกันกัมพูชาอ้างมาตรา 96 และ 73 ของศาล ขอให้มีมาตรการชั่วคราวเพราะมีการล่วงล้ำของประเทศไทยเข้าสู่ดินแดนกัมพูชา ต่อมาศาลมีมาตรการชั่วคราวให้แก่ทั้งสองฝ่ายในปี 2011

             โดยจะขอเริ่มต้นอ่านคำพิพาษาในวรรคที่ 14 ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในเงื้อมผาเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นพรมแดนสองประเทศคือ กัมพูชาตอนใต้ และไทยตอนเหนือ ในเดือน ก.พ. 1904 กัมพูชาอยู่ใต้อารักขาของรัฐฝรั่งเศส ที่เทือกเขาพนมดงรักเป็นไปตามสันปันน้ำ ซึ่งเป็นไปตามการประกาศของคณะกรรมการเตรียมการ เรื่องงานที่เสร็จสิ้นคือ การเตรียมการและตีพิมพ์เผยแพร่แผนที่ที่ได้รับ ซึ่งภารกิจนั้นมอบให้เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส 4 นาย ต่อมาในปี 1907 ทีมก็ได้เตรียมแผนที่ 17 ระหว่าง อินโดจีนกับไทย และมีแผนที่ขึ้นมา มีคณะกรรมการปักปันระหว่างอินโดจีนกับสยาม ทำให้พระวิหารตกอยู่ในดินแดนกัมพูชา หลังจากที่กัมพูชาประกาศอิสรภาพ ปี 1953 ต่อมาประเทศไทยได้ยึดครองปราสาทในปี 1954 แต่การเจรจาไม่เป็นผล ปี 1959 กัมพูชาร้องต่อศาล และไทยก็คัดค้านตามมา และศาลปฏิเสธการรับฟังของไทย และมีคำพิพาทเกิดขึ้นจริง ซึ่งเทือกเขาดงรักที่เรียกว่า แผนที่ภาคผนวก 1 นั้น อยู่ในกัมพูชา โดยมีผลบังคับระหว่างรัฐประเทศตามที่กัมพูชากล่าวอ้าง แต่ในแง่การมีผลผูกพันเหตุการณ์ระหว่างสองประเทศต้องยืนยันตามสันปันน้ำ
                ศาลพูดถึงข้อปฏิบัติการในคำพิพากษา ตัดสินว่า พระวิหารอยู่ในอธิปไตยของกัมพูชา และไทยมีผลผูกพัน หรือในบริเวณข้างเคียง และมีพันธกรณีที่ต้องนำวัตถุทั้งหลายที่ได้นำออกไปให้นำส่งคืน หลังจากมีคำพิพากษา 1962 ไทยก็ได้ถอนกำลังออกจากพระวิหาร และมีการทำรั้วลวดหนาม หลังจากที่เป็นไปตามมติครม.ของไทยในวันที่ 11 ก.ค. 1962 แต่ไม่มีการตีพิมพ์เผยแพร่


                ทั้งนี้ ศาลระบุว่า กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาหลังจากที่คำพิพากษา เป็นต้นมา ในมุมมองของไทยคือ ได้ออกจากบริเวณปราสาทและไทยได้กำหนดฝ่ายเดียวว่า เขตพระวิหารอยู่ที่ใดซึ่งตามคำพิพากษาในปี 1962 ได้กำหนดตำแหน่งเขตปราสาท ที่ไทยต้องถอนและได้จัดทำรั้วลวดหนาม ปราสาทไม่ได้เกินไปกว่าเส้นกำหนดตามกัมพูชาประท้วงว่า ไทยถอนกำลังออกไปนั้นก็ได้ยอมรับว่า ปราสาทเป็นของกัมพูชาจริง แต่กัมพูชาได้ร้องว่า ไทยสร้างรั้วรุกไปในดินแดนกัมพูชาซึ่งไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลและในมุมมองของกัมพูชาต้องการเสนอยูเนสโก แสดงให้เห็นว่า ทั้งสองมีข้อพิพาทในความหมายและขอบเขตในคำพิพากษาปี 1962 จริง